ดุสิตอเวนิว (Dusit Avenue)

Thailand / Bangkok /
 ถนน (46), คอนโดมีเนียม

ก่อนจะมาเป็น ดุสิตอเวนิว

"ดุสิตสโมสร" เคยเป็นบ้านพระยาประเสริฐศุภกิจ (เพิ่ม ไกรฤกษ์) เป็นคฤหาสน์แบบอิตาเลียน ออกแบบโดยสถาปนิกผู้สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม คือนายมาริโอ ตามานโญ (Mario Tamagno) และเมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเหยียบบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย

พระยาประเสริฐศุภกิจ (เพิ่ม ไกรฤกษ์) มีตำแหน่งถึงหัวหน้ามหาดเล็กในล้นเกล้าพระพุทธเจ้าหลวงรัชการที่ ๕ เคยตามเสด็จฯ เมื่อครั้งพระพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ท่านผู้นี้เป็นน้องชายของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (ประวัติพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ท่านดำรงยศครั้งแรกในสมัยพระจุลจอมเกล้าเป็นมหาดเล็กประจำห้องพระบรรทม และท่านนี่แหละคือผู้จดบันทึกเหตุการณ์ในห้องพระบรรทมก่อนจะเสด็จสวรรคต และท่านยังดำรงศเป็น อธิบดีกรมเจ้าที่ ท่านเป็นทายาทซึ่งสืบสกุลมาจากพระยาไกรโกษา (ฤกษ์) ท่านมีน้องและพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันคือ พระยาประเสริฐศุภกิจ แต่ได้รับพระราชทานนามสกุลเป็นประเสริฐศุภกิจ) ก่อนที่จะถูกซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ของดุสิตอเวนิว เป็นของ รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ทายาทตระกูลไกรฤกษ์

งานพระราชทานเพลิงศพพระยาประเสริฐศุภกิจ (เพิ่ม ไกรฤกษ์) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส ๔ มีนาคม ๒๔๙๔

ปัจจุบันหน้าบ้านยังมีป้ายโลหะ “ดุสิตสโมสร พ.ศ.๒๔๘๔” แขวนไว้อยู่ ชื่อดุสิตสโมสรนั้น ยังไม่ทราบที่มา ความหมายของชื่อ คล้ายกับสถานที่ได้ถูกใช้สำหรับเป็นสโมสรหรือแหล่งสมาคมในยุคนั้น ปี พ.ศ. ที่ระบุไว้น่าจะเป็นปีที่สร้างบ้านหลังนี้

จากวันวาน ถึงวันนี้ “ดุสิตอเวนิว”

ลักษณะเด่นของดุสิตอเวนิวคือ ทางเข้าหลักของอาคารจะเป็นอาคารเก่าศิลปะตะวันตก (อิตาเลี่ยน : ยุโรป) สร้างขึ้นในราว พ.ศ. ๒๔๔๘ ปัจจุบันภายในอาคารชั้นล่างเป็นห้องรับแขกรวม สำนักงานของผู้จัดการอาคาร ห้องจดหมาย ห้องติวและเรียนพิเศษ ชั้นบนมีห้องเรียนพิเศษ ห้องประชุม และห้องพระและนั่งสมาธิ แต่อีกซีกหนึ่งของอาคารถูกปิดตายทั้งชั้นบนและชั้นล่าง (จากการสอบถามเจ้าหน้าที เข้าใจว่าเป็นคนละกรรมสิทธิ์ อาจจะยังเป็นของเจ้าของเดิม) ทางเข้าที่สองอยู่ที่ชั้นล่างผ่านทางที่จอดรถ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอด ๒๔ ชั่วโมง มีถนนกว้าง ๕ เมตร รอบโครงการ ใช้เป็นที่จอดรถสำรอง ทางเข้าหลักทางถนนราชวิถี ตรงข้ามกับธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนราชวิถี ทางเข้าด้านหลังเป็นถนนสังคโลก ตรงข้ามกับวชิรพยาบาล

ดุสิตอเวนิว ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2540 บริหารงานโดยบริษัทสยามสินธร บริษัทร่วมทุนในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ และแลนด์แอนด์เฮาส์ จดทะเบียนเป็นอาคารชุดนิติบุคคลตามกฏหมายฯ ตัวอาคารมี ๗ ชั้น รูปร่างสี่เหลี่ยมมีช่องว่างตรงกลาง คล้ายตัวโอ "O" ในภาษาอังกฤษ แต่มุมด้านหนึ่งจะโอบรอบตัวบ้าน “ดุสิตสโมสร” เพื่อใช้บ้านที่ทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมเป็นทางเข้าหลัก ชั้นที่ ๑ เป็นพื้นที่จอดรถใต้อาคาร (รวมที่จอดรถใต้อาคารและรอบอาคาร ๑๖๐ คัน) ชั้น ๒ มีสระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกายและซาวน่า รวมทั้งสวนหย่อมขนาดเล็ก ห้องพักอาศัยมี ๓ แบบคือ A (๕๘ ตารางเมตร) B (๗๕ ตารางเมตร) และ C (๘๗ ตารางเมตร) ตั้งแต่ชั้นที่ ๒-๗ เป็นห้องพักอาศัย แต่ละชั้นมีแบบ B จำนวน ๓ ห้องและแบบ C จำนวน ๓ ห้อง นอกจากนั้นเป็นแบบ A รวมทั้งหมด ๒๐๐ ยูนิต ชั้นดาดฟ้าไม่มีระเบียงหรือราวกันตก

ข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แม่พลอย มีตัวจริง !

จากคำนำของหนังสือเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ฉบับชุดแรก ซึ่งเขียนโดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมท ทำให้ทราบว่า แม่พลอย เกิดจากจินตนาการของท่านเอง ไม่ได้มีบุคคลใดเป็นต้นฉบับของแม่พลอยโดยแท้ สิ่งเดียวที่จะยอมรับได้ก็คือชาติสกุลของแม่พลอยเท่านั้น เพราะในเรื่องได้บอกไว้อย่างชัดเจนว่าแม่พลอยเป็นพวก "ก๊กฟากข้างโน้น" อันเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกคนสกุลบุนนาคในสมัยก่อน

ด้วยเหตุที่มีผู้กล่าวว่าแม่พลอยมีตัวตนจริงๆ ก็อาจเป็นเพราะแม่พลอยได้ถูกใส่คุณลักษณะและคุณธรรมต่างๆซึ่งตรงกับคนจริงๆโดยลักษณะและคุณธรรมต่างๆเหล่านี้ ได้มาจากผู้ใหญ่ที่ท่านเคารพนับถือหลายท่านโดยเฉพาะญาติผู้ใหญ่ที่เป็นคนรุ่นเดียวกับแม่พลอย

และบุคคลที่คุณชายคึกฤทธิ์ เห็นว่ามีลักษณะและคุณธรรมต่างๆคล้ายกับแม่พลอยมากที่สุดก็คือ คุณหญิงจำเริญ ประเสริฐศุภกิจ หรือที่ท่านเรียกว่า คุณอาเริญ เหตุผลก็คือ ประการแรกคุณหญิงประเสริฐศุภกิจ มีสามีเป็นข้าราชสำนักเช่นเดียวกับแม่พลอย โดยสามีของท่านได้รับราชการเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ ๕ และรับราชการเรื่อยมาจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเสริฐศุภกิจ และปลดตนเองออกในสมัยรัชกาลที่ ๗ แต่ตัวพระยาประเสริฐศุภกิจนั้นยังห่างไกลจากคุณเปรมของแม่พลอยเป็นอย่างมาก ส่วนประการที่สองนั้นคุณหญิงเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดี มีความซื่อสัตย์ เจริญด้วยพรหมวิหาร ๔ และมีความเมตตากรุณา เหมือนกับแม่พลอย โดยคุณหญิงประเสริฐศุภกิจนั้นด้ทำพินัยกรรมให้ทายาทจัดพิมพ์สี่แผ่นดินในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน เพราะท่านคิดว่าท่านคือ แม่พลอยในสี่แผ่นดิน ..

อ้างอิงข้อมูล: www.reurnthai.com www.vcharkarn.com www.muangboranjournal.com
Nearby cities:
Coordinates:   13°46'47"N   100°30'26"E
  •  43 กม.
  •  48 กม.
  •  77 กม.
  •  90 กม.
  •  103 กม.
  •  120 กม.
  •  133 กม.
  •  164 กม.
  •  305 กม.
  •  436 กม.
This article was last modified 12 years ago