Saint Louis Chachoengsao(SL : 1948) Catholic School

Thailand / Chachoengsao / ชุมพล
 Roman Catholic school  Add category
 Upload a photo

ในปี 2491 ภราดาฮิวเบิร์ต เจ้าคณะภราดาเซนต์คาเบรียล ได้มอบหมายให้ ภราดายอห์น แมรี่ ร่วมกับ ภราดาภักดี ทุมมกานน ขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียน เพื่อให้บริการด้านการศึกษา แก่เยาวชนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งต่อมาโรงเรียนแห่งนี้เป็นที่รู้จัก ในนามของ โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา 4 มิถุนายน 2491 เป็นวันแรกเริ่มของโรงเรียนแห่งนี้ ในการทำหน้าที่สถาบันการศึกษา ของท้องถิ่น ซึ่งมี ภราดายอห์น แมรี่ เป็นผู้จัดการและอธิการ โดยมี นายชลินทร์ ศรีพิจารณ์ เป็นครูใหญ่ ปฐมบทของโรงเรียนเซนต์หลุยส์นั้น ได้เริ่มต้น โดยคณะครู 6 คน กับ นักเรียน 72 คน เปิดสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จนถึงชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 3

นับตั้งแต่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา ได้เปิดดำเนินการสอนให้แก่บุตรหลานของชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา คณะภราดา และคณะครู ตลอดจนเจ้าหน้าที่ ได้ทุ่มเทความตั้งใจที่จะพัฒนาโรงเรียนแห่งนี้ให้มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ปกครองและนักเรียน ที่ต้องการจะมีสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ ทำให้โรงเรียนแห่งนี้มีพัฒนาการที่ต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา

เริ่มจากปี 2495 ภายหลังจากที่ได้มีการก่อตั้งโรงเรียนได้ไม่นานนัก โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา ได้รับการรับรองวิทยฐานะจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นการยืนยันถึงมาตรฐานด้านการศึกษาของโรงเรียน และต่อมาในปีการศึกษา 2496 โรงเรียนแห่งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้งในด้านภาพลักษณ์ กล่าวคือ โรงเรียนได้มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายจากเดิมที่ให้นักเรียนแต่งกาย ด้วยเสื้อสีขาว กางเกงสีกากี มาเป็นเสื้อสีขาว กางเกงสีน้ำเงิน สวมถุงเท้าสั้นสีขาว รองเท้าสีดำ ดังเช่นปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามจากการที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา ได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครองโดยการส่งบุตร-หลาน เข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก ทำให้จำนวนนักเรียนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสถานที่ตั้งเดิมที่เคยกว้างขวางไม่อาจจะรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น ได้ ในปีการศึกษา 2498 จึงได้มีการย้ายที่ตั้งโรงเรียนมาตั้ง ณ ที่ตั้งปัจจุบันซึ่งมีเนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา พร้อมกับการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ ชื่อ "อาคารเซนต์หลุยส์" จากนั้น ในปีการศึกษา 2504 เป็นอีกปีการศึกษาที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา ได้มีการพัฒนารูปแบบการสอนที่เด่นชัด โดย ภราดา อันโตนิโอ อธิการในขณะนั้น ได้ตัดสินใจขยายการเรียนการสอนไปจนถึง ชั้น ม.7 แผนกวิทยาศาสตร์ หรือที่คนในยุคนั้นเรียกว่า ชั้นเตรียมอุดมศึกษา และเพื่อเป็นการยกระดับการศึกษาให้มีคุณภาพสูงสุดในปีการศึกษา 2505 ภราดาอันโตนิโอ ได้สร้างหอสมุดโดยแยกออกมาเป็นเอกเทศเพื่อให้บริการแก่นักเรียน และในปีการศึกษา 2507 เป็นปีที่โรงเรียนได้เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้น ป1.ถึง ม.ศ.5

ด้วยจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปีการศึกษา 2512 ภราดาอะเล็กซานเดอร์ จึงได้ดำเนินการสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ เป็นตึกขนาด 3 ชั้น ยาว 28 เมตร ชื่ออาคาร "อาคารมารีย์" เพื่อรองรับการขยายตัวของโรงเรียน

ในปีการศึกษา 2518 เป็นปีที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา ได้มีการสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนในระดับอนุบาล และได้สร้าง "อาคารมงฟอร์ต" ขึ้น ในสมัย ภราดาพยุง ประจงกิจ ปีการศึกษา 2522 เป็นอีกก้าวที่สำคัญของโรงเรียนในการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อให้สามารถตอบ สนองต่อความต้องการของท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง ในปีการศึกษานี้ โรงเรียนได้มีการขออนุญาตรับนักเรียนหญิงในชั้นอนุบาลปีที่ 1 และ 2 เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้มีการพัฒนาสภาพภูมิทัศน์ของโรงเรียนให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

ในปีการศึกษา 2534 เป็นปีที่ ภราดาอนุรักษ์ นิธิภัทราภรณ์ ได้เข้ามารับหน้าที่อธิการ นับเป็นยุคที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา ได้มีการพัฒนาการในด้านต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว เช่น การเร่งปรับปรุงอาคารสถานที่ การก่อสร้าง "อาคารวันทามารี" อาคารสำหรับนักเรียนอนุบาล “อาคารเฉลิมพระเกียรติ” อาคารเรียน 6 ชั้น รวมถึง การพัฒนาบุคลากรในทุก ๆ ด้าน เพื่อรองรับระบบการศึกษายุคใหม่ซึ่งทำให้เซนต์หลุยส์ในยุคนั้น เป็นยุคที่หลายคนกล่าวว่า เป็นยุคแห่งการเร่งรัดพัฒนา ซึ่งความพยายามดังกล่าวได้ส่งผลแก่โรงเรียนในปัจจุบัน ในด้านการเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของจังหวัดฉะเชิงเทรา อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการพัฒนาด้านระบบการเรียนการสอน และอาคารสถานที่ให้มีความทันสมัยแล้ว ในด้านพัฒนาการด้านสังคม โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา ได้มุ่งส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อที่จะพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพสูงสุด โดยในปีการศึกษา 2542 ได้รับรางวัลเหรียญเงินระดับประเทศ จากการประกวดวงโยธวาทิตนักเรียนแห่งประเทศไทย ประเภทระดับมัธยมต้น ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 4 ประจำปี 2542

ในปีการศึกษา 2543 ในปีการศึกษานี้โรงเรียนได้รับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาในระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา นับเป็นก้าวที่สำคัญของโรงเรียนที่มุ่งสู่การดำเนินการปฏิรูปการศึกษาตาม พ.ร.บ. 2542 และตามแนวการจัดการศึกษาของคณะเซนต์คาเบรียล ในปีถัดมา คือ ปีการศึกษา 2544 มีการอบรมพัฒนาหลักสูตร ปฏิรูปการเรียนรู้ ปฏิรูปครูและจัดการเรียนการสอน และ ภราดามีศักดิ์ ว่องประชานุกูล ได้สร้าง "อาคารสิรินธร" เพื่อรองรับการเปิดมัธยมศึกษาตอนปลาย และในปีการศึกษา 2545 โรงเรียนได้เปิดทำการสอนในระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมทั้งได้เช่าและซื้อเพื่อขยายเนื้อที่เพิ่มเติมด้านหลังรวมเป็น 30 ไร่ 2 งาน 58 ตารางวา

ในปีการศึกษา 2546 โรงเรียนได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นสถานศึกษาที่ได้รับ รางวัลพระราชทาน ระดับก่อนประถมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2545 และโรงเรียนยังได้รับประกาศเกียรติคุณ จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย มีพระราชเสาวนีย์ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา เป็นสถาบันที่ให้ความร่วมมือจัดหาผู้บริจาคโลหิตเป็นหมู่คณะ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างสม่ำเสมอนานกว่า 5 ปี อีกด้วย โรงเรียนได้จัดทำระบบสารสนเทศสถานศึกษาโดยใช้ชื่อว่า SWIS (School Web-based Information System) เป็น Web Application ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารข้อมูลของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพและสนอง ต่อการปฏิรูปการศึกษา โรงเรียนได้มุ่งส่งเสริมนักเรียนที่มีความสามารถด้านดนตรี ให้มีโอกาสได้แสดงออกโดยการจัดตั้งวงโยธวาฑิต และผลปรากฏว่าได้รับรางวัลเหรียญทอง จากการประกวดวงโยธวาทิต นักเรียน นิสิต นักศึกษา ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย และชิงถ้วยพระราชทานฯ ครั้งที่ 23 ประจำปี 2547 และรางวัลเหรียญเงิน จากการประกวดวงโยธวาทิตยามาฮาแห่งประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานฯ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2547

ปีการศึกษา 2547 ภราดาชำนาญ เหล่ารักผล รับหน้าที่อธิการโรงเรียน ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้โรงเรียนก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการศึกษา และเทคโนโลยี มีการปรับโครงสร้างการบริหาร และการบริหารการจัดการที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง รวมไปถึงการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ตลอดจนด้านเทคโนโลยี โสตทัศนูปกรณ์ และอาคารสถานที่ มีการคัดสรรบุคลากรที่เป็นชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถเปรียบเสมือน เจ้าของภาษา มาทำการสอนให้กับนักเรียน และมีการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ โดยครูต่างชาติร่วมกับครูไทย การปรับปรุงห้องปฏิบัติการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการเรียนรู้ของ ผู้เรียน โดยการปรับเปลี่ยน ขยายห้องปฏิบัติการ จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย ติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดตามห้องเรียน และมีสื่อเทคโนโลยีที่ครบครัน เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน มีห้องมัลติมีเดียรวมถึงเครื่องทัศนูปกรณ์อื่น ๆ ที่ทันสมัย การส่งเสริมพัฒนาบุคลากรในด้านเทคโนโลยี เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ก้าวไกล ตลอดจนมีการพัฒนาอาคารสถานที่อย่างต่อเนื่อง มีการปรับสภาพภูมิทัศน์ของโรงเรียนให้ร่มรื่น สวยงาม และมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ปกครอง และนักเรียน ปีการศึกษา 2548 โรงเรียนได้ผ่านการคัดสรรผลงาน และได้รับรางวัลเหรียญเงิน จากการจัดการเรียนรู้แบบธุดงคศึกษา ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนงานปฏิรูปการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างให้ผู้เรียน ครู ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องได้ใช้กระบวนการคิดและทักษะในการพัฒนาผลงานที่มีคุณภาพ ผ่านการประเมินตามมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯ ปีการศึกษา 2547 – 2549 และการตรวจประเมินคุณภาพภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการ ศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542

ปีการศึกษา 2550 ภราดามณฑล ประทุมราช ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ผู้จัดการและผู้แทนผู้รับใบอนุญาต มุ่งเน้นนโยบายประหยัด เพิ่มคุณภาพการศึกษา ปฏิบัติงานเป็นทีม และเปิดโรงเรียนสู่ชุมชน นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารโรงเรียนให้สอดคล้องกับนโยบายของ โรงเรียน ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการก่อสร้างและตกแต่งภายในอาคาร “ ศูนย์การเรียนรู้ยอห์น แมรี่” ซึ่งเป็นอาคารอเนกประสงค์ จำนวน 4 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวม 6,062 ตารางเมตร ประกอบด้วยห้องประชุมขนาดใหญ่ขนาด 900 -1,000 ที่นั่ง สำหรับรองรับการจัดงานและกิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงการเล่นกีฬาในร่มได้ ห้องประชุมย่อยขนาด 300 ที่นั่ง ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องออกกำลังกาย ลานจัดนิทรรศการ โรงอาหารขนาดใหญ่ให้ทันสมัยถูกสุขลักษณะ และห้องสมุดที่ทันสมัย จัดสร้างห้องเกียรติยศ เพื่อเก็บรวบรวมผลงานต่าง ๆ ของโรงเรียนไว้เป็นสัดส่วน ณ ชั้นสอง อาคารศูนย์การเรียนรู้ยอห์น แมรี่ จัดสร้างหลังคาสระว่ายน้ำ เพื่อกันแดด - ฝนให้กับผู้ที่มาใช้บริการ จัดทำคู่มือครู เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน มุ่งเน้นเรื่องระเบียบและความมีวินัย ความสะอาด และลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินเช่าจาก คุณลัดดา – คุณบำรุง ศรีคชา มาเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงเรียน จำนวน 17 ไร่ เป็นเงิน 17.5 ล้านบาท

ปีการศึกษา 2551 โรงเรียนได้จัดให้มีพิธีเสกอาคาร “ ศูนย์การเรียนรู้ยอห์น แมรี่ ” โดยได้รับเกียรติจากพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ประมุขอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ มาเป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2551 ซึ่งตรงกับวันฉลองครบรอบ 60 ปีแห่งการก่อตั้งโรงเรียน อีกทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคาร “ สิรินธรและศูนย์การเรียนรู้ยอห์น แมรี่ ” เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2551 นำความปลื้มปิติยินดีมาสู่ชาวเซนต์หลุยส์เป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบโรงเรียนให้ร่มรื่น สะอาดและสวยงามยิ่งขึ้น จัดทาสีอาคารทุกอาคารให้ดูเด่นเป็นสง่า จัดทำและติดตั้งป้ายบอกทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ภายในโรงเรียนทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เพื่อให้ผู้มาติดต่อกับทางโรงเรียนได้ใช้บริการสะดวกขึ้น จัดทำและติดตั้งป้ายสุภาษิต – คำคม ทั้งภาษาไทย และอังกฤษ ตามอาคาร เพื่อเป็นแหล่งความรู้ให้แก่นักเรียนทุกคน และในปีนี้โรงเรียนได้ผ่านการประกันคุณภาพและรับรองมาตรฐานการศึกษา รอบ 2 ประเภทสามัญศึกษา ระดับการศึกษาปฐมวัยศึกษา ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) นับเป็นก้าวที่สำคัญของโรงเรียนที่มุ่งสู่การปฏิรูปการศึกษาตามพระราช บัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และตามแนวการจัดการศึกษาเซนต์คาเบรียล พร้อมทั้งได้ส่งโรงเรียนเข้ารับการประเมินเพื่อขอรับรางวัลพระราชทาน ประเภทการศึกษาปฐมวัย ขนาดใหญ่ เพื่อเป็นการพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่องต่อไป

ปัจจุบัน โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ที่ 128 ถนนศุภกิจ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา สังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เขตพื้นที่การศึกษา ฉะเชิงเทรา เขต 1 เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นการศึกษาปฐมวัยปีที่ 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 บนเนื้อที่ 28 ไร่ 1 งาน 99.5 ตารางวา มีนักเรียน 4,132 คน และครู 272 คน
Nearby cities:
Coordinates:   13°41'32"N   101°5'12"E
This article was last modified 6 years ago