คุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา (Little Indian)

Thailand / Bangkok / Little Indian
 gurudwara (en)  Add category
 Upload a photo

พระศาสนสถานคุรุดวารา - กรุงเทพมหานคร


ในปี ค.ศ. 1911 ชาวซิกข์หลายครอบครัวได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย พวกเขาได้เลือกจังหวัดกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางทางสังคมของชาวซิกข์ ซึ่งในขณะนั้น ยังมิได้มีการก่อสร้างพระศาสนสถานคุรุดวารา ดังนั้นชาวซิกข์ทั้งหลายจึงได้ผลัดเปลี่ยนกันใช้บ้านของพวกเขาเองนั้น เป็นสถานที่ในการประกอบกิจกรรมทางศาสนาต่างๆ เช่น กิจกรรมการเจริญธรรมเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ วันสังกราน และในวันคุรปูรับต่างๆ เป็นต้น
เนื่องจากจำนวนประชากรชาวซิกข์ ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ศาสนิกชนชาวซิกข์เหล่านี้ ตัดสินใจที่จะสร้างพระศาสนสถานคุรุดวาราขึ้น ในปี ค.ศ. 1912 โดยศาสนิกชนชาวซิกข์ได้เช่าบ้านเรือนไม้ 1 คูหา ที่บริเวณถนนบ้านหม้อในปี ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) โดยขอเช่าจากเจ้าของบ้านด้วยค่าเช่าเพียงเล็กน้อย
จากนั้นก็ได้ตกแต่งให้เหมาะสมจนสามารถใช้เป็นสถานที่ ในการดำเนินศาสนกิจได้ในไม่ช้า แต่เนื่องด้วยความไม่สะดวกของชาวซิกข์ ในขณะนั้น พวกเขาจึงจัดให้มีการประกอบศาสนกิจ เป็นประจำเพียงสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น
ต่อมาเมื่อสังคมซิกข์เติบโตขึ้น ศาสนิกชนก็ได้ย้ายพระศาสนสถานคุรุดวาราจากที่เดิมมาเช่าบ้านหลังใหญ่กว่าเดิมและทำสัญญาเช่า ระยะยาวกว่าเดิม ณ. หัวมุมถนนพาหุรัดและถนนจักรเพชรปัจจุบัน หลังจากตกแต่งแก้ไขจนสามารถประกอบ ศาสนกิจได้แล้ว ก็พร้อมใจกันอัญเชิญพระมหาคัมภีร์ศรีคุรุครันต์ซาฮิบมาประดิษฐาน และเจริญธรรมศาสนกิจเป็นประจำทุกวันไม่มีวันหยุด นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1913 (พ.ศ. 2456) เป็นต้นมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

ต่อมาปี ค.ศ. 1932 (ปีพุทธศักราช 2475) ชาวซิกข์ได้รวบรวมเงินเพื่อซื้อที่ดินผืนหนึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ด้วย เงินจำนวน 16,200 บาท (หนึ่งหมื่นหกพันสองส้อยบาทถ้วน) และออกแบบแปลนก่อสร้างเป็นตึกสามชั้นครึ่ง ด้วยจำนวนเงินอีกประมาณ 25,000 บาท (สองหมื่นห้าพันบาท) สร้างตึกใหญ่เป็นศาสนสถานถาวร ใช้ชื่อว่า"ศาสนสถานสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา" การก่อสร้างสำเร็จในปี ค.ศ. 1933 (พ.ศ. 2476) ใช้เวลาก่อสร้างนานห้าเดือนครึ่ง เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็ได้กลาย เป็นศูนย์รวมของซิกข์ศาสนิกชน และชาวไทยที่นับถือศาสนซิกข์ในประเทศไทยต่อมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ต่อมาได้เกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา ทางพันธมิตรได้พยายามทิ้งระเบิดเพื่อทำลายโรงไฟฟ้าวัดเลียบ(ปัจจุบันได้ย้ายโรงไฟฟ้าออกไปหมดแล้ว) และบางส่วนของสะพานพุทธยอดฟ้า เนื่องจากศาสนสถานคุรุดวาราแห่งนี้อยู่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าในสมัยนั้น เลยทำให้ทางกองทัพอากาศของพันธมิตรทิ้งระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์ พลาดมาตกกลางตัวตึกถึง 2 ลูก ด้วยน้ำหนักของลูกระเบิดเจาะเพดานดาดฟ้าลงมาถึงชั้นล่าง 2 ชั้น ด้วยพระบารมีคุ้มภัยขององค์พระศาสดาศรีคุรุครันธ์ซาฮิบที่ทรงประทับเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวซิกข์ที่มาหลบซ่อนอยู่ในตัวอาคารศาสนสถานนับพันคนขณะนั้น ปรากฎว่าระเบิดที่มีพลังทำลายล้างมหาศาลนั้นเป็นระเบิดด้านทั้งสองลูกท่ามกลางความประหลาดใจของศาสนิกชน
แต่แรงสั่นสะเทือนของลูกระเบิดจำนวนหนึ่ง ที่ทำลายบ้านเรือนราษฎร ในบริเวณหลังโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ทำให้ตัวตึกร้าวเสียหายไปบางส่วน ไม่สามารถประกอบศาสนกิจเจริญธรรมได้อีกต่อไป
ชาวซิกข์ จึงได้หยุดการประกอบศาสนกิจชั่วคราว แล้วย้ายไปสร้างเป็นโรงเรือนไม้หลังคาสังกะสี เป็นการชั่วคราว เมื่อศาสนสถานคุรุดวาราหลังเดิมมีสภาพที่ทรุดโทรม และคับแคบเกินกว่าที่จะใช้เป็นศาสนสถานที่เหมาะสมได้
ในปี พ.ศ. 2522 สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา และด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวไทยซิกข์ทุกท่าน ได้ร่วมกันขอพร และอัรดาสต่อองค์พระศาสดาศรีคุรุครันธ์ซาฮิบ ขออนุญาติร่วมกันสร้างศาสนสถานคุรุใหม่บนพื้นที่เดิม การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นหลังจาก "ปัญจะปีอาเร่" ห้าท่านร่วมกันวางศิลาฤกษ์ การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในเวลา 2 ปี
คุรุดวาราเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 5 ชั้น และชั้นลอย ซึ่งเป็นชั้นที่อยู่เหนือชั้น 2 ขึ้นไป โดยในปัจจุบันชาวซิกข์ได้ใช้ชั้นลอยนี้แทนชั้น 3 ทำให้คุรุดวาราในปัจจุบันมีทั้งหมด 6 ชั้นด้วยกัน คุรุดวาราได้สร้างขึ้นบนเนื้อที่ประมาณ 360 ตารางวา (1,440 ตารางเมตร) โดยมีโครงสร้างที่แบ่งไปตามลักษณะการใช้พื้นที่ดังต่อไปนี้
ชั้นล่าง เป็นบริเวณโถงทางเข้าซึ่งมีพื้นที่กว้างพอสมควร ทางเดินเข้ามาสู่ตัว อาคารคุรุดวารามี 3 ทาง ทางแรกเป็นทางเดินเข้ามาในซอย ขนาดกว้าง 3 เมตร ข้างธนาคารทหารไทย สาขาเอทีเอ็ม เป็นทางเข้าโดยตรงจากถนนจักรเพชร ทางเข้าที่สองเป็นซอยเข้าทางประตูด้านตรอกอิตาเลียน จากถนนพาหุรัด ทางเข้าที่สามเป็นทางเข้าจากซอยจินดามณี ซึ่งเป็นทางที่ รถยนต์สามารถเข้ามาจอดหน้าประตูใหญ่ของคุรุดวาราได้ แต่ทางเข้าประตูที่สี่นั้นไม่สามารถจัดสร้างได้ เนื่องจากติดกับที่ดินของศูนย์การค้าเอทีเอ็ม (โดยทั่วไปคุรุดวาราของซิกข์จะมีประตูทางเข้าจากทั้งสี่ทิศ)
เมื่อเข้ามาในห้องโถงด้านซ้ายจะเป็นห้องขายหนังสือ อุปกรณ์เทป ซีดี บทสวด และผ้าคลุมพระมหาคัมภีร์ ศาสนิกชนจะสามารถยืมหรือซื้อหนังสือเหล่านี้ได้ ด้านขวามือจะเป็นคลีนิคสุขศาลานานักมิชชั่นซึ่งมีแพทย์หญิงปริญญาทำการรักษาพยาบาลแก่ผู้ยากไร้ และขัดสนโดยไม่คิดค่าบริการ คลีนิคพยาบาลนี้ทางศรีคุรุสิงห์สภาได้จัด ตั้งบริการประชาชนมากว่า 45 ปีแล้ว ติดกันจะเป็นห้องรับประทานอาหารสำหรับศาสนจารย์และสาธุชนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และพักอาศัยชั่วคราวในห้องพักที่ทางสมาคมได้จัดไว้บนชั้นลอยของอาคารชั้นล่างนี้ ถัดไปจะเป็นห้องน้ำสำหรับสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ เนื่องจากเป็นระเบียบที่เคร่งครัดของคุรุดวาราทุกแห่ง ศาสนิกชนจะนำรองเท้าขึ้นไปยังศาสนสถานชั้นบนไม่ได้อย่างเด็ดขาด จะมีบริการจัดเก็บรองเท้าสำหรับทุกคนที่มาคุรุดวารา โดยด้านซ้ายเป็นที่เก็บของสุภาพบุรุษและด้านขวาสำหรับสุภาพสตรี ด้านซ้ายสุดจะเป็นสำนักงานสมาคมศรีคุรุ สิงห์สภา มีห้องประชุมขนาดเล็กบนชั้นลอยของสำนักงาน


ตรงด้านหน้าปลายสุดห้องโถงจะมีลิฟต์ 3 ตัว สำหรับขึ้นไปยังชั้นต่างๆ ของอาคาร ขณะเดียวกันด้านซ้ายและขวาจะมีทางบันไดขึ้นขนาดกว้าง 3 เมตรทั้งสองด้าน และเป็นที่อัศจรรย์แก่ศาสนิกชนอย่างยิ่ง ที่จำนวนขั้นบันไดจากชั้นล่างไปยังห้องโถงที่ชุมนุมเจริญธรรม ซึ่งเป็นที่ประทับของพระศาสดาศรีคุรุครันธ์ซาฮิบมีจำนวน 84 ขั้นพอดี ซึ่งตรงกับจำนวนขั้นบันไดในคุรุดวาราเบาลีซาฮิบ ในนครโคเอ็นด์วาล ซึ่งเป็นศาสนสถานถาวรแห่งแรกของซิกข์ที่ก่อสร้างโดยพระศาสดา คุรุอามารดาส (พระศาสดาพระองค์ที่สาม) และจำนวนเลขตรงกับ 84 แสนวงจรของการเวียนว่ายตายเกิดของความเป็นมนุษย์ เป็นการเตือนใจให้มนุษย์พึงกระทำแต่ความดีและรำลึกถึงนามของพระผู้เป็นเจ้า รับใช้สังคมและช่วยเหลือแบ่งปันแก่ผู้ยากไร้ ชีวิตในร่างของมนุษย์เป็นลาภและโอกาสอันประเสริฐสุด ที่จะพบและรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่
ชั้นสอง เป็นห้องโถงโล่งสำหรับจัดประชุมอเนกประสงค์ และ เป็นห้องครัวพระศาสดา (คุรุกาลังคัร)คือ สามารถดัดแปลงใช้ตามกิจกรรมที่จำเป็น เช่นเป็นสถานที่จัดเลี้ยงในงานมงคลสมรส งานหมั้นต่างๆ และเป็นห้อง ประชุมฟังคำบรรยายของผู้เชี่ยวชาญศาสนา ที่สมาคมเชิญมาเป็นครั้งคราว ฯลฯ ในวันสำคัญทางศาสนา และ วัน เสาร์-อาทิตย์ หรือวันที่ศาสนิกชนขอจัดลังคัร บริเวณห้องประชุมอเนกประสงค์จะถูกดัดแปลงเป็นคุรุกาลังคัร บริเวณชั้นสองจึงใช้เพื่อประกอบงานพิธีทั้งที่เกี่ยวข้องกับศาสนากิจและกิจกรรมสาธารณของชุมชน
ชั้นถัดมาคือชั้นลอย เป็นชั้นที่มีความสูงเพียงครึ่งเดียวเมื่อเทียบกับชั้นอื่นๆ ในปัจจุบันชาวซิกข์จะรู้จักชั้นนี้ว่าเป็นชั้นที่ 3 ซึ่งในชั้นนี้จะมีห้องโถงซึ่งได้จัดทำขึ้น เพื่อรองรับงานประชุมทางศาสนาต่างๆ และห้องนี้ยังถูกใช้เป็นห้องเตรียมการของเจ้าภาพ เพื่อจัดพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ อีกด้วย
ชั้นที่สี่จะเป็นห้องโถงใหญ่ มีทางเข้ามาทั้งทางบันไดซ้ายขวาและโดยการขึ้นลิฟต์ ห้องโถงภายในไม่ รวมระเบียงทางเดินซ้ายขวามีขนาดความกว้างประมาณ 15.0 เมตรและยาว 37.0 เมตร ตรงกลางเป็นทางเดิน ไปทำความเคารพพระศาสดาคุรุครันธ์ซาฮิบ ซ้ายและขวาพื้นปูด้วยพรมลายสีสวยสดสำหรับเป็นที่นั่งของศาสนิกชน
สุภาพสตรีจะนั่งทางซ้าย และสุภาพบุรุษทางขวา โดยหันหน้าเข้าหาที่ประทับพระศาสดาคุรุครันธ์ซาฮิบ สาเหตุที่จัดให้นั่งแยก เพียงให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีสมาธิในการนั่งฟังพระธรรม
ใตรงกลางห้องโถงจะเป็นแท่นประทับยกสูง จากระดับนั่งบนพื้นประมาณหนึ่งเมตร แล้วมีเสาค้ำทั้งสี่ด้านเป็นซุ้มแกะสลักเป็นลายหุ้มทองอย่างสวยงาม ตอนบนจะเป็นโดมดอกบัวตูมลักษณะหงายและมีกลีบล้อมรอบ บนสุดจะคลุมด้วยผ้าสักหลาดสีสดคล้ายฉัตรปักด้วยดิ้นทองที่ปลายชายผ้ารอบด้าน
แท่นประทับนี้จะเป็นสถานที่เพื่อใช้ในการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์คุรุครันธ์ซาฮิบยินั่นเอง โดยจะมีศาสนจารย์นั่งอยู่ทางด้านหลังของ พระมหาคัมภีร์ เพื่อสวดมนต์ภาวนาเจริญธรรม และอ่านหลักธรรมคำสอนในพระคัมภีร์ และท่านจะคอยทำความเคารพ พระมหาคัมภีร์ด้วยการโบกพู่ที่ทำขึ้นจากหางม้าไปมา
ส่วนทางด้านขวาของแท่นประทับนี้ จะมีที่นั่งที่ได้เตรียมไว้ สำหรับสังคีตจารย์ได้ทำการขับร้อง บทสวดพระธรรม และเพลงสวดมนต์ภาวนาสรรเสริญพระเจ้า หรือ "กีรตัน" นั่นเอง
ในเวลาเช้าตรู่ประมาณ 4.30 น. ของทุกวัน ศาสนจารย์จะอัญเชิญ นำพระมหาคัมภีร์ศรีคุรุครันธ์ซาฮิบ เสด็จมาประทับบนแท่นบัลลังก์ แล้วศาสนจารย์จะทำการ "ปัรกาส" อัญเชิญเปิดอ่านเป็นครั้งแรกทุกเช้า จากนั้นก็จะคลุมไว้ด้วยผ้าคลุมถึงพระอาศน์ ในเวลาค่ำประมาณ 18.30 น. หลังจากจบการ สวด "แร่ห์ราส" ศาสนจารย์จะทำ "สุขอาซั่น" (การอัญเชิญ พระมหาคัมภีร์คุรุครันธ์ซาฮิบ กลับที่ประทับในห้องที่ได้จัดไว้โดยเฉพาะ) แก่พระศาสดาคุรุครันธ์ซาฮิบ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ


ชั้นห้า จะแบ่งประโยชน์ใช้สอยเป็นพื้นที่ของโรงเรียนไทยซิกข์อินเตอร์เนชั่นแนลแผนกเตรียมอนุบาล - ประถมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กเล็กไม่สะดวกจะเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนไทยซิกข์อินเตอรเนชั่นแนลที่บางนา แต่เมื่อขึ้นชั้นประถมแล้วสามารถย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนบางนาได้โดยตรง

ชั้นที่หกจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ ครึ่งหนึ่งจะเป็นห้องโถงสำหรับเด็กอนุบาลของโรงเรียนไทยซิกข์อินเตอร เนชั่นแนลเป็นห้องประชุมและห้องอเนกประสงค์ อีกครึ่งหนึ่งเป็นห้องที่ประดิษฐานพระมหาคัมภีร์คุรุครันธ์ซาฮิบ ในยามค่ำ ในบริเวณนี้จะจัดเป็นพื้นที่อีกสองห้องเล็กสำหรับพระศาสนจารย์และชาวซิกข์ทั่วไปให้มาศึกษาพระมหาคัมภีร์ได้ด้วยตนเอง
Nearby cities:
Coordinates:   13°44'38"N   100°30'3"E
This article was last modified 12 years ago